วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2551

ส่งเสริมการศึกษาและแบบเรียนการต้องดอก



พิธีเปิดอนุสาวรีย์อดีตส.ส.ประพันธ์ อัมพุธ และลานวัฒนธรรม


ลานวัฒนธรรมเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางวัฒนธรรม โบราณสถานที่ได้บูรณะแบบเดิมโดยช่างพื้นบ้าน แสดงบ้านถ้ำช่วงการก่อตั้ง ในปี 2400 โดยมีบ้าน7 หลังที่แสดง 7 ครอบครัว โดยได้รับงบประมาณเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ 30}000 บาท ร่วมกับชุมชนตำบลบ้านถ้ำเปิดลานวัฒนธรรมและพิธีเปิดอนุสาวรีย์อดีตส.ส.ประพันธ์ อัมพุธ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณพัฒนาลานวัฒนธรรมและปรับปรุงภูมิทัศน์จากเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ 10,000 บาทในการดำเนินงาน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการต้อนรับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ในการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์

พิธีบวชป่าและสืบชะตาแม่น้ำ

บูรณะอาคารโบราณหอเจ้าพ่อล้านช้าง



เป็นแกนนำในการบูรณะอาคารโบราณหอเจ้าพ่อล้านช้าง ซึ่งเดิมมีสภาพชำรุดเนื่องจากผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน และเป็นอาคารที่เป็นศูนย์รวมทางด้านความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีพื้นบ้านที่มีผลต่อทางด้านจิตใจและมีผลต่อความสมบูรณ์ของป่าชุมชน มีประเพณีที่สืบทอดกันตลอดมา การบูรณะโดยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและผู้มีจิตศรัทธามีประวัติและพิธีกรรมดังนี้

เริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.2400 ตรงกับเดือน 6 เหนือขึ้น 5 ค่ำวันจันทร์ ปีสะง้า (ปีมะเมีย) มีชาวบ้านจากนาแงะนางเหลียว อำเภอเกาะคา จำนวน 7 ครอบครัว อพยพพากันมาอาศัยอยู่บ้านถ้ำ และได้เลือกทำเลพื้นที่สร้างหอผีประจำหมู่บ้าน อันเป็นเวลาของการฟื้นฟูบ้านเมืองซึ่งมีการกวาดต้อนและการอพยพของชนกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอาศัยอยู่ในตำบลบ้านถ้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้คติการนับถือผี ความเชื่อหล่อหลอมรวมกัน ทำให้ผีวิญญาณอเนกอนันต์ที่คุ้มครองบริเวณหมู่บ้าน ป่าเขาให้ร่มเย็นเป็นสุข มีความอุดมสมบูรณ์และได้ตั้งชื่อหอผีประจำหมู่บ้านว่า “หอเจ้าพ่อล้านจ๊าง” จะมีการเลี้ยงผีหอเจ้าพ่อล้านช้างอยู่ 3 ครั้งคือ ตานข้าวใหม่ ดำหัวและสืบชะตาหมู่บ้าน และประเพณี ซึ่งเป็นพิธีใหญ่เข้าทรงและเลี้ยงเจ้าพ่อ มีการเตรียมข้าวปลาอาหารและเครื่องเซ่น สำหรับการแต่งกายซึ่งใช้ได้ทั้งชายและหญิงไว้หลาย ๆ ผืน สำหรับผู้ประทับทรง นอกจากนั้น ก็มีการเตรียมพื้นที่สำหรับ วงดนตรีพื้นเมืองที่จะต้องบรรเลงเพลงประกอบการฟ้อน ซอจ้อย ซึ่งก่อนที่จะมีพิธีเลี้ยงผี 1 วัน จะมีการแจ้งข่าวโดยการตีฆ้อง และตีกลองรอบหมู่บ้านเพื่อเชิญผู้มาร่วมร่วมพิธี ด้านหลังเป็นทางขึ้นของผีเจ้าที่ บริเวณหอจะมี “ผามฆ่าสัตว์” (ผามหมายถึง อาคารโล่งที่สร้างขึ้นเพื่อทำกิจกรรมชั่วคราวหรือถาวรก็ได้) ด้านหลังมีหลักบ้านหลักเมืองอีก 3 หลักเรียกว่า เสาหลักช้าง เสาหลักม้า และเสาหลักเทวดา ไว้เป็นที่วางอาหารให้เจ้าที่ ผู้หญิงที่มีอาวุโสเป็นผู้สืบทอดประกอบพิธีกรรมการบูชาเซ่นสรวงและมักจะเป็น”ม้าขี่หรือร่างทรง”มีการจัดอาหารคาวหวานเซ่นสังเวย แต่โบราณจะมีการฆ่าควาย แล้วชำแหละปรุงอาหารมาถวาย ผู้นำหมู่บ้านและผู้สูงอายุจะต้องเดินทางมาร่วมพิธีกันหมด ในเดือน 9 เหนือ ออก 3 ค่ำ (ประมาณเดือนมิถุนายน) ร่างทรงจะกล่าวตักเตือนลูกหลาน ผู้นำหมู่บ้าน รวมทั้งช่วยในการทำนายทายทักและรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมฟ้อนรำและการละเล่นอย่างสนุกสนานเรียกว่า “การฟ้อนผี” ซึ่งจะทำพิธีบนหอ แต่บางปีก็ลงมาฟ้อนบริเวณลานหรือข่วงหน้า “หอผีเจ้าพ่อล้านจ๊าง”



การดำเนินงานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น

สนับสนุนการศึกษาองค์ความรู้และภูมิปัญญาพื้นบ้านในการรักษาป่าชุมชน ของการศึกษาค้นคว้าอิสระ มหาหาวิทยาลัยนเรศวรพะเยา เรื่อง ความยั่งยืนในการจัดการป่าชุมชนบ้านถ้ำจอมศีล ตำบลบ้านถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เพื่อนำข้อมูลที่ศึกษาเป็นแนวทางมาพัฒนาพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน และนำข้อมูลที่ได้สนับสนุนหน่วยงานในท้องถิ่นนำไปเป็นแผนงานโครงการ และเป็นฐานข้อมูลให้กับเยาวชน ชุมชนได้ศึกษา ในการผลการศึกษาพบว่า
ผลการศึกษาความยั่งยืนในการจัดการป่าชุมชนบ้านถ้ำจอมศีล ในครั้งนี้คือ 1) มีความเป็นชุมชนในระบบเครือญาติ และวัฒนธรรมความเชื่อในชุมชน เป็นไปในแนวเดียวกันมีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนสูง 2) มีทรัพยากรธรรมชาติ ที่เอื้ออำนวยให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้เพื่อการผลิตของชุมชนได้ 3)มีผู้นำที่เข้มแข็งสามารถนำเอาภูมิปัญญาวัฒนธรรมความเชื่อมาใช้ในการจัดการทรัพยากรของชุมชนได้จะทำให้ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ หรือป่าชุมชนต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำป่าไม้และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ในชุมชนโดยองค์กรของชุมชนในการมีส่วนร่วมเพื่อผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อผลประโยชน์นั้น การจัดการต้องมุ่งเน้นให้เป็นการจัดการที่ถาวรและยั่งยืน เห็นว่าการจัดการตามรูปแบบของป่าชุมชนบ้านถ้ำจอมศีล มีจุดยืนที่ชัดเจน คงไว้ในวัฒนธรรมชุมชน มีวิธีการจัดการป่าชุมชนมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนที่เป็นตัวอย่างของชุมชนอื่นที่สามารถนำเอาวิธีการวัฒนธรรมความเชื่อประเพณีและภูมิปัญญามาใช้ในการจัดการอนุรักษ์ป่าชุมชนอย่างยั่งยืน

รายงานการดำเนินงานศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านถ้ำ ปี 2551


บทนำ
ตามที่ชุมชนบ้านถ้ำ ได้รับความไว้วางใจในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยชุมชนเห็นความสำคัญทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่และสืบทอดให้กับเยาวชนในการสืบสาน นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยได้รับ และดำเนินการจัดตั้งศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านถ้ำ ขึ้นโดยกำหนดการพิธีเปิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นระยะเวลา 4 ปี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา สำนักงานเทศบาลตำบลบ้านถ้ำ สำนักงานปกครองอำเภอดอกคำใต้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพะเยาเขต 1 สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านถ้ำ และหน่วยงานปกครองชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านถ้ำ มาด้วยดี
ศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านถ้ำ เป็นการดำเนินการของชุมชนโดยไม่รับค่าตอบแทน แต่มีความสำนึกในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน และสืบทอดองค์ความรู้เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับ วิถีชีวิตและสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่านิยมทางวัตถุนำคุณค่าทางจริธรรม คุณธรรม และอารยะธรรมทางตะวันตกมาครอบงำ การดำเนินงานทางศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลบ้านถ้ำจึงได้ดำเนินการอย่างระมัดระวังในการที่จะสร้างผลกระทบต่อชุมชน โดยนำเสนอในการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม โดยศึกษาองค์ความรู้ การศึกษาถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนตำบลบ้านถ้ำมานำเสนอต่อ หน่วยงาน และการสนับสนุนของภาครัฐในการจัดสนับสนุนในงบประมาณในโอกาสต่อไป